ยานอวกาศ

ฮะยะบุซะ 2 ไปถึงดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย

02-02-16-3.1.jpg

2 ก.ค. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
วันที่ 27 มิถุนายน 2561 ยานฮะยะบุซะ 2 ได้จุดจรวดควบคุมทิศทางเพื่อปรับทิศทางเข้าสู่การโคจรเทียบดาวเคราะห์น้อยซึ่งเป็นเป้าหมายของยานได้สำเร็จ 

ฮะยะบุซะ 2 เป็นยานสำรวจขององค์การสำรวจการบินและอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา ออกเดินทางจากโลกไปเมื่อปี 2557 เป้าหมายของการสำรวจคือ ดาวเคราะห์น้อย 162173 ริวกิว (162173 Ryugu)

ในการสำรวจของฮะยะบุซะ 2 จะไม่โคจรรอบดาวเคราะห์ริวกิว แต่จะใช้วิธีโคจรเทียบ นั่นคือการโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปพร้อม ๆ กับวัตถุเป้าหมายโดยรักษาระยะห่างจากดาวเคราะห์น้อย 20 กิโลเมตรคงที่ 

ยานฮะยะบุซะ 2 มีวิธีสำรวจที่หลากหลายและพิสดารมาก ไม่เพียงแต่สำรวจจากระยะไกลเท่านั้น แต่ยังมีการส่งยานลูกไปลงจอด มีรถสำรวจถึงสามคันลงไปวิ่งบนพื้นผิว มีแม้แต่การทิ้งระเบิดใส่และเก็บตัวอย่างกลับโลก

ฮะยะบุซะ 2 จะตามติดเพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยริวกิวไปเป็นเวลา 18 เดือน ในช่วงแรก ยานจะสำรวจพื้นผิวเพื่อเลือกตำแหน่งที่เหมาะที่สุดที่จะปล่อยยานและรถลงไป รวมถึงสำรวจบริเวณรอบดาวเคราะห์น้อยเพื่อค้นหาดาวบริวารที่อาจมีอยู่ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อยานได้ 

ยานลงจอดมีชื่อว่า มาสคอต (MASCOT) ย่อมาจาก Mobile Asteroid Surface Scout สร้างโดยศูนย์การบินและอวกาศเยอรมัน ยานจะปล่อยมาสคอตลงไปบนดาวเคราะห์น้อยในเดือนตุลาคม แม้จะเป็นเพียงกล่องสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ แต่มาสคอตก็ยังเคลื่อนที่ได้โดยการกลิ้งกระดอน ภารกิจในส่วนนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 16 ชั่วโมง อุปกรณ์สำคัญที่อยู่บนตัวมาสคอตก็คือ มาตรรังสี สเปกโทรมิเตอร์รังสีอินฟราเรด แมกนิโทมิเตอร์ กล้องถ่ายภาพ

ดาส.jpg

ในช่วงท้ายของภารกิจ ยานฮะยะบุซะ 2 จะหย่อนระเบิดลงไปบนดาวเคราะห์น้อย เพื่อระเบิดพื้นผิวให้เป็นหลุม จากนั้นก็จะเคลื่อนที่เข้าไปจ่อที่หลุมนั้นเพื่อเก็บตัวอย่างวัสดุจากก้นหลุมแล้วนำกลับมายังโลก คาดว่าแคปซูลเก็บตัวอย่างจะกลับมาถึงโลกในปี 2563

ดาวเคราะห์น้อยริวกิว ถูกค้นพบในปี 2542 เป็นดาวเคราะห์น้อยชนิดซี (คาร์บอน) เป็นดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มอะพอลโล ซึ่งเป็นกลุ่มของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้โลก ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จึงอยู่ในรายชื่อ ดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่ง (PHA) ด้วย ดาวเคราะห์น้อยริวกิวมีรูปร่างคล้ายเพชรข้าวหลามตัด มีความกว้างประมาณ 900 เมตร หมุนรอบตัวเองตามแนวตั้งฉากกับวงโคจรด้วยคาบ 7.5 ชั่วโมง

“ตอนนี้ เรามองเห็นหลุมอุกกาบาต มองเห็นก้อนหิน เห็นสภาพภูมิประเทศที่มีความหลากหลายอย่างมากในแต่ละพื้นที่ เป็นทั้งเรื่องน่าประหลาดใจในแง่วิทยาศาสตร์ และเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมด้วย” ยุอิชิ ซึดะ ผู้จัดการโครงการของฮะยะบุซะ 2 กล่าว 

การสำรวจดาวเคราะห์น้อยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของแจ็กซา ในปี 2553 แจ็กซาได้ส่งยานฮะยะบุซะไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยชื่ออิโตะกะวะมาแล้ว แม้ในครั้งนั้นมีปัญหามากมาย แต่ยานก็ยังนำฝุ่นจากผิวดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกได้สำเร็จ ในภารกิจของฮะยะบุซะ 2 นี้จะละเอียดกว่าที่ภารกิจของฮะยะบุซะมาก

อ้างอิง    https://www.google.co.th