แนะกลุ่มเสี่ยง ระวัง ‘โรคความดันโลหิตสูง’

ภาพ4.jpg

 “โรคความดันโลหิตสูง” เพชฌฆาตแห่งความเงียบ หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั่วโลกพบเสียชีวิตมากกว่า 7 ล้านคน ในขณะที่ไทยในรอบ 5 ปี (พ.ศ. 2556-2560) ป่วยเพิ่มจาก 3.9 ล้านคน เป็น 5.5 ล้านคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีจำนวนการเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามความเสื่อมถอยของหลอดเลือดจากอายุที่มากขึ้น กรมควบคุมโรค เตือน!! อย่าชะล่าใจ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ไม่มีอาการแสดง กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ควรหมั่นตรวจสุขภาพและวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ต่าง ๆ ที่อาจอันตรายถึงชีวิต

          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  “โรคความดันโลหิตสูง” หรือภาวะความดันโลหิตสูง คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่กำลังขยายวงกว้างและมีความรุนแรงมากขึ้น ภาวะความดันโลหิตสูงจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น และไม่มีสัญญาณเตือนหรืออาการบ่งชี้โรคให้ทราบล่วงหน้า จึงมักจะถูกเรียกว่าเป็น “เพชฌฆาตแห่งความเงียบ” ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจำนวนมากเป็นโรคนี้โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูงแต่มักตรวจพบโดยบังเอิญ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการปวดมึนบริเวณท้ายทอย วิงเวียนศีรษะ ซึ่งมักเป็นหลังการตื่นนอน พอตอนสายอาการจะทุเลาลง ทั้งนี้อาการแสดงของโรคความดันโลหิตสูงจะพบเมื่อค่าความดันโลหิตสูงในระดับปานกลางถึงระดับสูง โดยมักมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหล ตามัว มองไม่เห็น เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือเท้าชา แขนขาอ่อนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดจากพยาธิสภาพของโรค

          สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงนั้น ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การมีกิจกรรมทางกายน้อย การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือและไขมันสูง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังเกิดได้จากปัจจัยทางพันธุกรรมหากพบคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงโอกาสที่คนอื่น ๆ ในครอบครัวจะเป็นโรคชนิดนี้ก็จะเป็นไปได้สูงมาก และหากเกิดโรคความดันโลหิตสูงขึ้นแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษา ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติได้อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะต่าง ๆ หลายระบบในร่างกาย และทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น โรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง

          นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า “โรคความดันโลหิตสูง” เป็นสาเหตุการตายของประชากรทั่วโลกสูงถึง 7.5 ล้านคนหรือร้อยละ 12.8  ของสาเหตุการตายทั้งหมด และพบว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจำนวนมากถึงเกือบพันล้านคน สองในสามจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และยังมีการคาดการณ์อีกว่าในปี พ.ศ. 2568 ความชุกของโรคความดันโลหิตสูงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน สำหรับประเทศไทยพบว่าอัตราการป่วยโรคความดันโลหิตสูงในรอบ 5 ปีที่ผ่าน มา (พ.ศ. 2556-2560) เพิ่มขึ้นจาก 3,936,171 คน เป็น 5,597,671 คน และพบอัตราป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2560) เพิ่มขึ้นจาก 540,013 คน เป็น 813,485 คน ส่วนสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุไทยจากรายงานพบว่าผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายในช่วงอายุ 66-69 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 47 และ 50 ผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายในช่วงอายุ 70-79 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 53 และ 60และผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 59 และ 69 จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เนื่องจากเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้นความเสื่อมถอยของหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น

          “ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนอย่าชะล่าใจโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป หรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ควรใส่ใจในการป้องกันด้วยการควบคุมความดันโลหิตของตนเองให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ โดยหมั่นตรวจสุขภาพและวัดค่าความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้งและต้องรู้ค่าตัวเลขและความหมายของค่าความดันโลหิตของตนเอง เมื่อมีความเสี่ยงหรือกำลังเผชิญกับโรคแล้วจะสามารถรับมือได้ทัน ซึ่งทางสมาพันธ์ความดันโลหิตโลกกำหนดค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม คือ ตัวบน(ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว) ไม่ควรเกิน 120 ค่าตัวล่าง (ค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว) ไม่ควรเกิน 80 กล่าวคือในคนปกติจะมีระดับความดันโลหิต 120/80

          นอกจากนี้โรคความดันโลหิตสูงยังสามารถป้อง กันได้ด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากอ้วนให้รีบลดน้ำหนัก รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่และงดดื่ม สุรา พักผ่อนให้เพียงพอและทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ หากมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุโรค 1422” นพ.สุวรรชัย กล่าว.