แนะกลุ่มเสี่ยง ระวัง ‘โรคความดันโลหิตสูง’

ภาพ4.jpg

 “โรคความดันโลหิตสูง” เพชฌฆาตแห่งความเงียบ หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั่วโลกพบเสียชีวิตมากกว่า 7 ล้านคน ในขณะที่ไทยในรอบ 5 ปี (พ.ศ. 2556-2560) ป่วยเพิ่มจาก 3.9 ล้านคน เป็น 5.5 ล้านคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีจำนวนการเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามความเสื่อมถอยของหลอดเลือดจากอายุที่มากขึ้น กรมควบคุมโรค เตือน!! อย่าชะล่าใจ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ไม่มีอาการแสดง กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ควรหมั่นตรวจสุขภาพและวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ต่าง ๆ ที่อาจอันตรายถึงชีวิต

          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  “โรคความดันโลหิตสูง” หรือภาวะความดันโลหิตสูง คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่กำลังขยายวงกว้างและมีความรุนแรงมากขึ้น ภาวะความดันโลหิตสูงจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น และไม่มีสัญญาณเตือนหรืออาการบ่งชี้โรคให้ทราบล่วงหน้า จึงมักจะถูกเรียกว่าเป็น “เพชฌฆาตแห่งความเงียบ” ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจำนวนมากเป็นโรคนี้โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูงแต่มักตรวจพบโดยบังเอิญ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการปวดมึนบริเวณท้ายทอย วิงเวียนศีรษะ ซึ่งมักเป็นหลังการตื่นนอน พอตอนสายอาการจะทุเลาลง ทั้งนี้อาการแสดงของโรคความดันโลหิตสูงจะพบเมื่อค่าความดันโลหิตสูงในระดับปานกลางถึงระดับสูง โดยมักมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหล ตามัว มองไม่เห็น เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือเท้าชา แขนขาอ่อนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดจากพยาธิสภาพของโรค

          สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงนั้น ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การมีกิจกรรมทางกายน้อย การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือและไขมันสูง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังเกิดได้จากปัจจัยทางพันธุกรรมหากพบคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงโอกาสที่คนอื่น ๆ ในครอบครัวจะเป็นโรคชนิดนี้ก็จะเป็นไปได้สูงมาก และหากเกิดโรคความดันโลหิตสูงขึ้นแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษา ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติได้อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะต่าง ๆ หลายระบบในร่างกาย และทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น โรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง

          นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า “โรคความดันโลหิตสูง” เป็นสาเหตุการตายของประชากรทั่วโลกสูงถึง 7.5 ล้านคนหรือร้อยละ 12.8  ของสาเหตุการตายทั้งหมด และพบว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจำนวนมากถึงเกือบพันล้านคน สองในสามจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และยังมีการคาดการณ์อีกว่าในปี พ.ศ. 2568 ความชุกของโรคความดันโลหิตสูงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน สำหรับประเทศไทยพบว่าอัตราการป่วยโรคความดันโลหิตสูงในรอบ 5 ปีที่ผ่าน มา (พ.ศ. 2556-2560) เพิ่มขึ้นจาก 3,936,171 คน เป็น 5,597,671 คน และพบอัตราป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2560) เพิ่มขึ้นจาก 540,013 คน เป็น 813,485 คน ส่วนสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุไทยจากรายงานพบว่าผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายในช่วงอายุ 66-69 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 47 และ 50 ผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายในช่วงอายุ 70-79 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 53 และ 60และผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 59 และ 69 จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เนื่องจากเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้นความเสื่อมถอยของหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น

          “ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนอย่าชะล่าใจโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป หรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ควรใส่ใจในการป้องกันด้วยการควบคุมความดันโลหิตของตนเองให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ โดยหมั่นตรวจสุขภาพและวัดค่าความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้งและต้องรู้ค่าตัวเลขและความหมายของค่าความดันโลหิตของตนเอง เมื่อมีความเสี่ยงหรือกำลังเผชิญกับโรคแล้วจะสามารถรับมือได้ทัน ซึ่งทางสมาพันธ์ความดันโลหิตโลกกำหนดค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม คือ ตัวบน(ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว) ไม่ควรเกิน 120 ค่าตัวล่าง (ค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว) ไม่ควรเกิน 80 กล่าวคือในคนปกติจะมีระดับความดันโลหิต 120/80

          นอกจากนี้โรคความดันโลหิตสูงยังสามารถป้อง กันได้ด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากอ้วนให้รีบลดน้ำหนัก รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่และงดดื่ม สุรา พักผ่อนให้เพียงพอและทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ หากมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุโรค 1422” นพ.สุวรรชัย กล่าว.

สมุนไพรใกล้ตัว ‘ไล่ยุง’

 ฤดูฝนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมีทั้งความชื้นและความร้อน การเจ็บป่วยที่มักเกิดขึ้นนอกจากอาการไข้หวัด ไอ จาม เจ็บคอ ความชื้นแฉะอับชื้นยังทำให้เกิดเชื้อรา เกิดโรคน้ำกัดเท้า โรคกลาก เกลื้อน ตามร่างกาย และรวมถึงโรคที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังกันก็คือ ไข้เลือดออก โรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ

ยุง.jpg

          อาจารย์นิเวศน์ บวรกุลวัฒน์ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้การดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝน แนะใช้สมุนไพรใกล้ตัวในครัวเรือนไล่ยุง และป้องกันการเจ็บป่วยว่า ช่วงเวลานี้ที่ยังคงมีฝนตก มีความเฉอะแฉะ หากเปียกฝนหรือโดนละอองฝน ควรรีบรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่นไว้ก่อน เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคต่างๆ ที่จะตามมา โดยสวมเสื้อผ้าแห้ง อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย หรือแม้แต่การดื่มน้ำอุ่นๆ การดื่มน้ำขิง ซึ่งมีรสเผ็ดร้อนก็จะช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายอบอุ่น

          “การป้องกันโรคเพื่อไกลจากความเจ็บป่วยในช่วงฤดูฝนและทุกฤดูกาล สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมช่วงฤดูฝนเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลนี้ ทางการแพทย์แผนไทยกล่าวถึงการเจ็บป่วยด้วย ลม (วาตะ) การไหลเวียนของธาตุลมในร่างกายสะดุด ติดขัด หรือบางคนมีธาตุลมมากกว่าปกติ หรือบางคนน้อยกว่าปกติ เช่น บางคนอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากลมในร่างกายมากกว่าปกติ หรือ อาจมีอาการปวดขัดตามเนื้อตามตัว เนื่องจากระบบไหลเวียนเลือดและลมในร่างกายไม่ดี การรักษาสมดุลของการไหลเวียนเลือดและลม สองส่วนนี้จึงมีความสำคัญ”

          การดูแลสุขภาพ ปรับสมดุลร่างกายด้วยอาหาร ทานพืชผักสมุนไพร เป็นอีกส่วนหนึ่งช่วยป้องกันการเจ็บป่วย ทั้งนี้ อ.นิเวศน์ ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ในภาพรวมสภาพอากาศของฤดูฝนมีความเปลี่ยนแปลง ดังที่กล่าวมีทั้งความร้อนและเย็นชื้น ร่างกายอาจปรับสมดุลไม่ทัน การปรับสมดุลร่างกายด้วยอาหาร กินอาหารที่มีส่วนผสมของพืชผักสมุนไพรที่มี รสเผ็ดร้อน อย่างเช่น พริกไทย ดีปลี ขิง ข่า ตะไคร้ พริก โหระพา ใบกะเพรา ฯลฯ ซึ่งมีฤทธิ์ร้อน สรรพคุณจะทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น

          ส่วน อาหารรสขม เช่น มะระ สะเดา ฯลฯ ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการไข้ในช่วงฤดูนี้ได้เช่นกัน

          นอกจากนี้ช่วงฝนตกชุก ทำให้เกิดน้ำขัง เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งก็อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ การกำจัดลูกน้ำยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยทำบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่มีมุมอับทึบที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ยุงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ละเลย!

          ในส่วนพืชสมุนไพรไล่ยุง ก็มีหลายชนิด โดยเฉพาะสมุนไพรคู่ครัว ใกล้ตัว อย่างเช่น ข่า ตะไคร้ โหระพา สะระแหน่ ส้ม มะกรูด ฯลฯ ซึ่งมีกลิ่นฉุน ยุงและแมลงต่าง ๆ ไม่มารบกวน

          “ตะไคร้ เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรมากประโยชน์ น่าสนใจ นอกจากมีรสเผ็ด มีกลิ่นหอม ซึ่งมักนำมาปรุงอาหาร หาได้ง่าย โดยส่วนเหง้าใช้นำมาเป็นยาขับลม ระบายลม และถ้าได้นำเหง้ามาต้มดื่มช่วงหน้าฝน จะช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีและยังรักษาความอบอุ่นให้กับร่างกายได้ดีเยี่ยม

          ส่วน ใบ หรือลำต้นตะไคร้ สามารถนำมาใช้ไล่ยุง โดยทุบพอบุบ ๆ ให้น้ำมันหอมระเหยออกมา แล้วนำไปวางไว้ตามมุมห้อง วางในที่มืดๆ ที่มียุงก็จะช่วยไล่ยุงได้ โดยตะไคร้ที่นิยมนำมาใช้ไล่ยุงได้แก่ ตะไคร้หอม ขณะที่ โหระพาใบสะระแหน่ ก็มีดีสามารถนำมาบดหรือขยี้ให้มีกลิ่นออกมาแล้วนำไปวางตามจุดที่มียุง วางไว้ในที่ยุงชุม หรือวางไว้บริเวณพัดลม นำไปปัด แกว่งให้ทั่วบ้านให้กลิ่นแพร่กระจายไปทั่วบ้านก็จะช่วยไล่ยุงได้ดีเช่นกัน”

          กระเทียม สมุนไพรคู่ครัวสามารถเลือกนำมาใช้ไล่ยุงได้ดีเช่นกัน โดยนำไปทุบให้พอแหลกให้กลิ่นกระเทียมออกมา นอกจากนี้ยังมี ใบแมงลัก ซึ่งมีกลิ่นที่ช่วยไล่ยุงไกล เช่นเดียวกับ มหาหงส์ ต้นไม้ที่มีดอกสวยและหอมละมุน เหง้าของมหาหงส์มีคุณสมบัติเด่นน้ำมันหอมระเหยช่วยไล่ยุง เปลือกส้ม เปลือกมะนาว มะกรูด รวมถึงพืชตระกูลส้ม ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยถ้าเป็นเปลือกส้มสดให้บีบให้น้ำมันหอมระเหยฟุ้งออกมา

          ลูกมะกรูด ช่วยป้องกันลูกน้ำยุงลายได้ โดยบ้านที่เก็บน้ำไว้ใช้โดยมีตุ่มเป็นภาชนะให้นำลูกมะกูดร้อยแขวนไว้บริเวณปากตุ่ม กลิ่นหอมจากมะกรูดจะช่วยป้องกันยุงไม่มาวางไข่ นอกจากนี้ยังมีพืชที่เหมาะกับการปลูกเป็นไม้ประดับ อย่างเช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ก็มีส่วนไล่ยุงไกลได้เช่นกัน

          แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝนควรต้องสำรวจและดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทั้งนี้เมื่อพบความผิดปกติ หรือเริ่มมีอาการป่วยอย่าวางใจ ควรรีบรักษาก่อนลุกลาม.

อ้างอิง http://www.thaihealth.or.th

อหิวาต์หมูระบาดหนัก

คุมเข้ม อหิวาต์หมูระบาดหนัก ชะลอนำเข้าจากจีน

หมุ.jpg

“อธิบดีกรมปศุสัตว์” สั่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสนามบินสุวรรณภูมิตรวจเข้มชิ้นส่วน-ผลิตภัณฑ์หมูนำเข้าจากจีน หลังอหิวาต์แอฟริกาในหมูระบาดหนักที่จีน พร้อมคุมเข้มด่านชายแดน 89 ช่องทางใน 25 จว.รวมถึงออกประกาศชะลอนำเข้าไทย 90 วัน ประสานกลาโหมจับตาด่านพรมแดนห้ามเคลื่อนย้าย ชี้เชื้อมีความทนทานอยู่นานกว่า6เดือน เผยถ้าสถานการณ์รุนแรงอาจเสนอรมว.เกษตรฯห้ามนำเข้า

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้ประสานด่านกักกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดชุดปฏิบัติการสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนซากสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีต้นทางจากประเทศจีน เนื่องจากขณะนี้โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ระบาดรุนแรงขึ้น

อีกทั้ง ให้กองสารวัตรและกักกันเข้มงวดตรวจค้นและปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสุกรเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนและด่านพรมแดนทั้ง 89 ช่องทาง ใน 25 จังหวัด ล่าสุด ยังออกประกาศชะลอนำเข้าหมูเป็น รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุกรจากจีนและประเทศที่มีการระบาดของโรคเป็นระยะเวลา 90 วัน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แต่ถ้าปรากฎท้องที่ใดสถานการณ์โรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากจีนยังมีความเสี่ยงอยู่ อธิบดีมีอำนาจที่จะประกาศชะลอการนำเข้าต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 90 วันต่อเนื่องไป หรือถ้าสถานการณ์ระบาดรุนแรงมากขึ้น กรมปศุสัตว์จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกำหนดห้ามการนำเข้า หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสุกรหรือซากสุกรจากจีนเลยได้

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เมื่อออกประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือ นำผ่านสุกรหรือซากสุกรจากจีน พ.ศ.2561 ได้ประสานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอความร่วมมือให้แจ้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมทุกภาคส่วน ทั้งทางอากาศยานและตามแนวชายแดน ให้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์ – ซากสัตว์ ตามแนวชายแดน รวมทั้งแจ้งหน่วยงานในสังกัดกรมปศุสัตว์ ให้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์ – ซากสัตว์ทุกช่องทางที่มีการนำเข้าและนำผ่านทั้งการขนส่งทางบก ทางเรือ และทางอากาศยาน รวมถึงเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ในพื้นที่ สำหรับตรวจชันสูตรและยืนยันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หากพบเชื้อไวรัสก่อโรคจะได้เร่งป้องกันควบคุมการระบาดทันที โรคนี้ แม้ไม่ระบาดจากสัตว์สู่คน แต่เป็นโรคระบาดรุนแรงในสุกรซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีความทนทานสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 6 เดือน จึงจำเป็นต้องป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและผู้ประกอบการด้วย

อ้างอิง http://www.thaihealth.or.th