สมุนไพรใกล้ตัว ‘ไล่ยุง’

 ฤดูฝนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมีทั้งความชื้นและความร้อน การเจ็บป่วยที่มักเกิดขึ้นนอกจากอาการไข้หวัด ไอ จาม เจ็บคอ ความชื้นแฉะอับชื้นยังทำให้เกิดเชื้อรา เกิดโรคน้ำกัดเท้า โรคกลาก เกลื้อน ตามร่างกาย และรวมถึงโรคที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังกันก็คือ ไข้เลือดออก โรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ

ยุง.jpg

          อาจารย์นิเวศน์ บวรกุลวัฒน์ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้การดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝน แนะใช้สมุนไพรใกล้ตัวในครัวเรือนไล่ยุง และป้องกันการเจ็บป่วยว่า ช่วงเวลานี้ที่ยังคงมีฝนตก มีความเฉอะแฉะ หากเปียกฝนหรือโดนละอองฝน ควรรีบรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่นไว้ก่อน เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคต่างๆ ที่จะตามมา โดยสวมเสื้อผ้าแห้ง อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย หรือแม้แต่การดื่มน้ำอุ่นๆ การดื่มน้ำขิง ซึ่งมีรสเผ็ดร้อนก็จะช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายอบอุ่น

          “การป้องกันโรคเพื่อไกลจากความเจ็บป่วยในช่วงฤดูฝนและทุกฤดูกาล สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมช่วงฤดูฝนเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลนี้ ทางการแพทย์แผนไทยกล่าวถึงการเจ็บป่วยด้วย ลม (วาตะ) การไหลเวียนของธาตุลมในร่างกายสะดุด ติดขัด หรือบางคนมีธาตุลมมากกว่าปกติ หรือบางคนน้อยกว่าปกติ เช่น บางคนอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากลมในร่างกายมากกว่าปกติ หรือ อาจมีอาการปวดขัดตามเนื้อตามตัว เนื่องจากระบบไหลเวียนเลือดและลมในร่างกายไม่ดี การรักษาสมดุลของการไหลเวียนเลือดและลม สองส่วนนี้จึงมีความสำคัญ”

          การดูแลสุขภาพ ปรับสมดุลร่างกายด้วยอาหาร ทานพืชผักสมุนไพร เป็นอีกส่วนหนึ่งช่วยป้องกันการเจ็บป่วย ทั้งนี้ อ.นิเวศน์ ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ในภาพรวมสภาพอากาศของฤดูฝนมีความเปลี่ยนแปลง ดังที่กล่าวมีทั้งความร้อนและเย็นชื้น ร่างกายอาจปรับสมดุลไม่ทัน การปรับสมดุลร่างกายด้วยอาหาร กินอาหารที่มีส่วนผสมของพืชผักสมุนไพรที่มี รสเผ็ดร้อน อย่างเช่น พริกไทย ดีปลี ขิง ข่า ตะไคร้ พริก โหระพา ใบกะเพรา ฯลฯ ซึ่งมีฤทธิ์ร้อน สรรพคุณจะทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น

          ส่วน อาหารรสขม เช่น มะระ สะเดา ฯลฯ ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการไข้ในช่วงฤดูนี้ได้เช่นกัน

          นอกจากนี้ช่วงฝนตกชุก ทำให้เกิดน้ำขัง เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งก็อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ การกำจัดลูกน้ำยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยทำบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่มีมุมอับทึบที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ยุงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ละเลย!

          ในส่วนพืชสมุนไพรไล่ยุง ก็มีหลายชนิด โดยเฉพาะสมุนไพรคู่ครัว ใกล้ตัว อย่างเช่น ข่า ตะไคร้ โหระพา สะระแหน่ ส้ม มะกรูด ฯลฯ ซึ่งมีกลิ่นฉุน ยุงและแมลงต่าง ๆ ไม่มารบกวน

          “ตะไคร้ เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรมากประโยชน์ น่าสนใจ นอกจากมีรสเผ็ด มีกลิ่นหอม ซึ่งมักนำมาปรุงอาหาร หาได้ง่าย โดยส่วนเหง้าใช้นำมาเป็นยาขับลม ระบายลม และถ้าได้นำเหง้ามาต้มดื่มช่วงหน้าฝน จะช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีและยังรักษาความอบอุ่นให้กับร่างกายได้ดีเยี่ยม

          ส่วน ใบ หรือลำต้นตะไคร้ สามารถนำมาใช้ไล่ยุง โดยทุบพอบุบ ๆ ให้น้ำมันหอมระเหยออกมา แล้วนำไปวางไว้ตามมุมห้อง วางในที่มืดๆ ที่มียุงก็จะช่วยไล่ยุงได้ โดยตะไคร้ที่นิยมนำมาใช้ไล่ยุงได้แก่ ตะไคร้หอม ขณะที่ โหระพาใบสะระแหน่ ก็มีดีสามารถนำมาบดหรือขยี้ให้มีกลิ่นออกมาแล้วนำไปวางตามจุดที่มียุง วางไว้ในที่ยุงชุม หรือวางไว้บริเวณพัดลม นำไปปัด แกว่งให้ทั่วบ้านให้กลิ่นแพร่กระจายไปทั่วบ้านก็จะช่วยไล่ยุงได้ดีเช่นกัน”

          กระเทียม สมุนไพรคู่ครัวสามารถเลือกนำมาใช้ไล่ยุงได้ดีเช่นกัน โดยนำไปทุบให้พอแหลกให้กลิ่นกระเทียมออกมา นอกจากนี้ยังมี ใบแมงลัก ซึ่งมีกลิ่นที่ช่วยไล่ยุงไกล เช่นเดียวกับ มหาหงส์ ต้นไม้ที่มีดอกสวยและหอมละมุน เหง้าของมหาหงส์มีคุณสมบัติเด่นน้ำมันหอมระเหยช่วยไล่ยุง เปลือกส้ม เปลือกมะนาว มะกรูด รวมถึงพืชตระกูลส้ม ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยถ้าเป็นเปลือกส้มสดให้บีบให้น้ำมันหอมระเหยฟุ้งออกมา

          ลูกมะกรูด ช่วยป้องกันลูกน้ำยุงลายได้ โดยบ้านที่เก็บน้ำไว้ใช้โดยมีตุ่มเป็นภาชนะให้นำลูกมะกูดร้อยแขวนไว้บริเวณปากตุ่ม กลิ่นหอมจากมะกรูดจะช่วยป้องกันยุงไม่มาวางไข่ นอกจากนี้ยังมีพืชที่เหมาะกับการปลูกเป็นไม้ประดับ อย่างเช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ก็มีส่วนไล่ยุงไกลได้เช่นกัน

          แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝนควรต้องสำรวจและดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทั้งนี้เมื่อพบความผิดปกติ หรือเริ่มมีอาการป่วยอย่าวางใจ ควรรีบรักษาก่อนลุกลาม.

อ้างอิง http://www.thaihealth.or.th